พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และติดตามผลงานของ แมลงปอ อากิระ ได้บน Facebook และ Twitter

4 ต.ค. 2554

ส้ม ส้ม ส้ม


ถ้ามีส้มอยู่ 100 ผล และมีคน 100 คน หากแบ่งกันคนละ 1 ผล ก็คงดี
เป็นความยุติธรรมที่สุดในอุดมคติของใครหลายคน แต่ความเป็นจริงไม่ใช่

ในโลกของความจริง จะมีส้มจำนวนประมาณ 90 ผล อยู่ในมือของคนเพียง 10-20 คน
ส่วนส้มที่เหลือประมาณ 10 ผล ต้องถูกคนอีก 80-90 คน แย่งชิงส้มจำนวนดังกล่าว
ย่อมหมายถึง จะมีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถแย่งชิงส้มได้เลย แม้แต่เพียง 1 กลีบ
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะนี่คือ กฏของเงิน ธรรมชาติของการกักตุนเพื่อความอยู่รอด

ในสมัยอดีตกาล มนุษย์ปลูกข้าวไว้กิน และนำข้าวส่วนหนึ่งไปแลกปลา
ส่วนมนุษย์ที่จับปลา ก็นำปลาส่วนหนึ่งมาแลกข้าวไว้กิน ตามแต่จำนวนจะตกลงกัน
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อข้าวที่ปลูกโตไม่ทันใจ และปลาที่จับได้ก็เน่าเสียเร็ว
ทางออกที่ลงตัวที่สุด คือ การมีตัวแทนของการแลกเปลี่ยนสิ่งของ

มนุษย์ได้ใช้สิ่งสมมุติเป็นตัวแทนของการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ต้องการ มานานนับพัน ๆ ปี
มนุษย์ใช้โลหะที่หายาก, หอยเบี้ย, ลูกปัด และสิ่งอื่น ๆ ที่(คิดว่า)มีค่า มาตั้งมูลค่าไว้แลกกัน
จนมาถึงยุคเงินสมัยใหม่ เงินกระดาษ เงินตัวแทนแลกเปลี่ยนที่ใคร ๆ อยากมีไว้ครอบครอง

ไม่ว่าจะให้นิยาม ‘เงิน’ ไว้สวยหรูเลิศเลอว่าอย่างไร แท้ที่จริง สรุปตรงตัวที่สุด
เงิน คือ ตัวแทนของการกักตุนทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์
เงิน เป็นการถนอมอาหาร และเก็บรักษาสิ่งของที่ชาญฉลาดที่สุดของมนุษย์

ทว่าเงินได้นำมาซึ่งการสะสมเพื่อสืบทอดสิทธิ์ของการกักตุนทรัพยากรธรรมชาติ
มีผลทำให้คนอื่น ๆ และคนรุ่นถัดไปหมดโอกาสที่จะกักตุนในทรัพยากรนั้น ๆ
จนถึงขั้นมนุษย์ใช้เงินเป็นเครื่องมือของการควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในสังคมของมนุษย์เอง

เงินจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเอาตัวรอด และการเอาเปรียบของมนุษย์
หากใครไม่มีเงิน หมายความว่าจะต้องอดตาย ในเมื่อทรัพยากรได้ถูกจับจองไปหมดแล้ว
เงินจึงนำไปสู่การเห็นแก่ตัวได้ง่ายกว่าการแบ่งปันให้ผู้อื่น ที่จะเข้าถึงทรัพยากรเท่า ๆ กัน
จึงไม่แปลกที่ใคร ๆ อยากร่ำรวย เพียงเพื่อให้ตนเองและครอบครัวมีชีวิตรอดอยู่บนโลก

ใช่ว่าโลกใบนี้จะโหดร้ายไปหมดเสียหมดทุกอย่าง เพียงเพราะเงินตัวเดียว
บ่อยครั้งที่พบเห็นเศรษฐีใจดีที่แบ่งปันสิทธิ์ของการกักตุนทรัพยากรให้แก่ผู้ด้อยโอกาส
เศรษฐีใจดีผู้นั้นย่อมจะร่ำรวยความสุขมากกว่าคนรวยที่กักตุนเงินทองเพื่อตนเอง
แสดงว่า ยังมีความดีอยู่เหนือกฏของธรรมชาติ, อยู่เหนือกฏของการเอาตัวรอด
และคนดีไม่จำเป็นต้องรวยหรือจน ขอให้ไม่ตกอยู่ภายใต้กฏของเงิน เท่านั้นเอง

ปัจจุบันก็พบเห็นกลุ่มคนที่พยายามเปลี่ยนมาใช้ความดีเป็นอัตราแลกเปลี่ยนแทนเงิน
เช่น โครงการธนาคารความดี ที่เน้นให้คนในชุมชนทำความดี เก็บขยะมาแลกสิ่งของ
หรือโครงการอื่น ๆ ที่เน้นการทำความดีเป็นอาสาสมัคร เพื่อแลกอาหารกลางวัน
เสมือนว่าการทำความดีนั้น สามารถใช้เป็นสิทธิ์ของการกักตุนทรัพยากรธรรมชาติได้
หมายความว่า โลกเราบางกลุ่มคนกำลังต้องการสิ่งทดแทนเงิน ที่เรียกว่า ‘เครดิตความดี’

เราทุกคนต่างรู้ดีว่า สะสมเงินทองมากมาย ถึงตายไปก็เอาไปไม่ได้ แม้แต่สลึงเดียว
แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ตาย มันคือสิ่งจำเป็นในการเอาตัวรอด ใคร ๆ ก็รู้ถึงกฏข้อนี้
แต่ทว่าเมื่อใดที่วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ว่า ‘ภพชาติหน้ามีจริง’
ตายไปแล้วสามารถเอาผลของการกระทำความดีไปใช้ต่อได้ในภพไหนก็ตาม

ความคิดของมนุษย์จะเปลี่ยนไป เราจะเห็นผู้คนพยายามกักตุนเครดิตความดี
เครดิตความดีที่ทุกคนยอมรับว่า ใช้แลกเปลี่ยนสิทธิ์ของการกักตุนทรัพยากรธรรมชาติได้
ผู้คนจะได้ทำอาชีพที่ตนเองรัก เป็นอาชีพที่ทำดีให้แก่ผู้อื่น ทำเพื่อสะสมเครดิตความดี
จึงเป็นการให้ผู้อื่นเพื่อให้ตนเองได้อยู่รอด และเพื่อสะสมไว้ใช้ในภพชาติหน้า (ถ้ามีจริง)

ทำไมต้องรอให้พิสูจน์ว่าชาติหน้ามีจริง ทั้งที่หลายสิ่งก็ทำดีได้แถมได้ตังค์

(บทความนี้ ต้องการกล่าวถึงเรื่องของเงินกับความดีเท่านั้น ไม่ได้ต้องการขยายความไปสู่เรื่องอื่น ๆ ที่มีผลพวงเกี่ยวข้องกับเงิน และได้ยกตัวอย่างการกักตุนส้มโดยสมมุติเป็นอัตราตัวเลข ไม่ได้อ้างอิงถึงตัวเลขของความเป็นจริงของแต่ละกลุ่มสังคม)

เขียนโดย แมลงปอ อากิระ
วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2554

Copyright © 2011 Akira Dragonfly All rights reserved.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ชอบงานเขียนนี้ คลิก Like ให้กำลังใจด้วย